ประวัติโรงเรียน

 พ.ศ. 2509 

จุดเริ่มต้น
จากแนวคิดและวิสัยทัศน์ของ พลตรีพล ศิรินทุ อดีตเจ้ากรมการขนส่งทหารบก และคณะนายทหาร ที่เห็นว่ารถยนต์ของกองทัพบกที่ชำรุดและได้จำหน่าย แล้วเป็นจำนวนมาก ถ้าจะได้นำมาเป็นเครื่องช่วยฝึกกับนักเรียน ก็จะทำให้เกิดผลประโยชน์มหาศาล กรมการขนส่งทหารบก จึงได้ขอนโยบายจากกองทัพบกจัดตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษา เปิดสอนแผนกวิชาช่างยนต์ เพื่อจะได้นำทรัพยากรของกรมการขนส่ง ทหารบกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยเหลือส่งเสริมการศึกษาของบุตรหลานข้าราชการกองทัพบก ตลอดจนชุมชนและบุคคลทั่วไป ให้มีสถานที่ศึกษาในประเภทอาชีวศึกษาและมีความรู้ไปประกอบอาชีพได้ กรมการขนส่งทหารบกได้ดำเนินการจนได้รับอนุมัติจากกองทัพบก โดยพลเอก บริบูรณ์ จุลจาริตต์ รอง ผบ.ทบ. ในขณะนั้นให้ใช้อาคารไม้ในบริเวณโรงเรียนทหารขนส่ง กรมการขนส่งทหารบก เป็นที่ตั้งโรงเรียน

ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียน ช่างกล ขส.ทบ. ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2509 ให้ โรงเรียน ช่างกล ขส.ทบ. เป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาขึ้นเป็น โรงเรียนแรกของกองทัพบก มีวิทยะฐานะเทียบเท่าโรงเรียนอาชีวศึกษาของโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนได้เปิดรับสมัครครั้งแรกมีผู้สนใจสมัครเรียน ประมาณ 1,300 คน จึงคัดเลือกด้วยการสอบและสัมภาษณ์ นักเรียนได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนในปี แรกรวม 88 คน เปิดเรียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2509 โดย พลตรีพล ศิรินทุ เจ้ากรมการขนส่งทหารบกในขณะนั้น เป็นเจ้าของโรงเรียนโดยตำแหน่ง พันเอกไชยวัฒน์ วิไล เป็นผู้จัดการ พันเอกมานะ วรามิตร เป็นครูใหญ่ และร้อยตรีสมพงษ์ บุณยรัตนพันธ์ เป็นผู้ช่วยครูใหญ่

แปรสภาพเป็น โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์
กองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญจากชื่อเสียงและผลงานของโรงเรียน ช่างกล ขส.ทบ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ยอมรับในกลุ่มโรงเรียนอาชีวะตลอดจนบุคคลทั่วไป กระทรวงศึกษายกย่องให้เป็นโรงเรียนตัวอย่าง จึงได้รับการรับการลงมติจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสวัสดิการข้าราชการกองทัพบก โดยมี พลโท เต็ม หอมเศรษฐี ผช.ผบ.ทบ. ในขณะนั้นเป็นประธาน ให้แปรสภาพเป็น โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ได้ตามระเบียบ

 พ.ศ. 2515 

สร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม
พลเอกประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้อนุมัติเงินกองทัพบก จำนวน 4,107,000 บาท ให้กรมการขนส่งทหารบกดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น 1 หลัง โรงฝึกงาน 2 หลัง และโรงอาหาร 1 หลัง

 พ.ศ. 2517 

สร้างโรงฝึกงานเพิ่มเติม
โรงเรียนได้รับการอนุเคราะห์จากกองทัพบก โดย พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้อนุมัติเงินจำนวน 3,609,158 บาท ดำเนินการก่อสร้างโรงฝึกงาน 3 หลัง และซื้ออุปกรณ์การฝึกจำนวนหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของนักเรียน

 พ.ศ. 2523 

เพิ่มระดับชั้น ปวส.แผนกช่างยนต์
โรงเรียนได้รับนโยบายจาก พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่งได้กรุณามาตรวจเยี่ยมโรงเรียนและด้วยความมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล จึงให้นโยบายในการบริหารโรงเรียน ดังนี้

  1. ให้โรงเรียนขยายชั้นเรียนเป็นปี 4 – 5   คือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง แผนกช่างยนต์ 
  2. ให้นักเรียนชั้นปีที่ 1 ทุกคน ได้รับการเรียนวิชารักษาดินแดน และสามารถเรียนต่อได้  จนถึงชั้นปีที่  5 
  3. เมื่อนักเรียนเรียนจบชั้นปีที่ 5 ในหลักสูตรการเรียนและวิชารักษาดินแดนแล้วมีโอกาสบรรจุในอัตราตามความจำเป็นของราชการ 

สร้างอาคารเรียนปูน อาคารแรก
นอกจากนั้น พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ยังได้กรุณาอนุมัติเงินงบประมาณจากกองทัพบก ให้สร้างอาคารเรียน 3 ชั้น 12 ห้องเรียน 1 หลัง คณะกรรมการบริหาร ซึ่งมี พลตรีมานะ วรามิตร เจ้ากรมการขนส่งทหารบก ในขณะนั้น เป็นประธานได้ให้ พันเอกปรีมล ปัทมะสุคนธ์ รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารขนส่ง และ ผู้จัดการโรงเรียน ในขณะนั้น เป็นผู้รับนโยบายดำเนินการตามกรรมวิธี และในปีการศึกษา 2527 ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้โรงเรียนฯ เปิดสอนถึงชั้นปีที่ 5 ระดับ ปวส. และกรมการรักษาดินแดนได้อนุมัติให้นักเรียนชั้นปีที่ 1 เรียนวิชาทหารชั้นปีที่ 1 โดยไม่คิดผลการเรียน ได้เป็นโรงเรียนแรก

 พ.ศ. 2537 

เปิดหลักสูตร ปวส. สาขางานซ่อมบำรุงอากาศยาน
กรมการขนส่งทหารบก โดยคณะกรรมการบริหารโรงเรียนฯ ได้พิจารณาเห็นว่า กรมการขนส่งทหารบกมีขีดความสามารถทางด้านอุปกรณ์การบินและมีบุคลากร เพียงพอ สมควรเปิดสอนสาขางานช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอีกสาขาหนึ่ง จึงได้ดำเนินการประสานกับกระทรวงศึกษาธิการทำหลักสูตรสาขางานช่างซ่อม บำรุงอากาศยาน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แล้วรับนักเรียนที่จบแผนกช่างยนต์ (ปวช.) เข้าศึกษาต่ออีกสาขาหนึ่ง และเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตร ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โรงเรียนจึงเปิดทำการสอนภาค ปกติ สาขางานซ่อมบำรุงอากาศยาน และภาคบ่ายสอนสาขางานเทคนิคยานยนต์

 พ.ศ. 2540 

คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ได้พิจารณาว่า โรงเรียนสามารถเป็นแหล่งความรู้ที่เหมาะสมเห็นควรเปิดทำการสอนพลทหารก่อนปลดประจำการให้มีอาชีพ แต่เนื่องจากการเปิดสอนในหลักสูตรต้องเป็นไปตามกฎระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น โรงเรียน จึงได้เปิดโรงเรียนเพื่อการนี้ ภายใต้ชื่อ “โรงเรียน ช่างกล ขส.ทบ.” ให้ทำการสอนพลทหารก่อนปลดประจำการ โดยมีหลักสูตร ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็ก, จักรยานยนต์, ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และสอนขับรถยนต์

 พ.ศ. 2542 

เปิดสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง-สาขางานเครื่องกลไฟฟ้า ระดับชั้น ปวส.
คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ได้พิจารณาแล้วว่า โรงเรียนควรเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง-สาขางานเครื่องกลไฟฟ้า อีกสาขาหนึ่ง และได้เปิดสอนในปีการศึกษา 2543 เป็นปีแรก

 พ.ศ. 2549 

ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จาก สมศ.
โรงเรียนได้ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2549 ผลการประเมินผ่านมาตรฐาน ตามที่ สมศ. กำหนด

 พ.ศ. 2554 

ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จาก สมศ.
โรงเรียนได้ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เมื่อวันที่ 18-20 สิงหาคม 2554 ผลการประเมินผ่านมาตรฐาน ตามที่ สมศ. กำหนด

 พ.ศ. 2556 

ย้ายที่ตั้งโรงเรียน
โรงเรียนได้ย้ายสถานที่ตั้งไปจัดการเรียนการสอน บริเวณพื้นที่คลังแสงกรมสรรพาวุธทหารบก (เดิม) บริเวณถนนติวานนท์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยจัดการศึกษาในสาขาวิชาตามเดิม